วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

ขยายความใน Joint Communiqué (แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา)

• แถลงการณ์ร่วมข้อที่๑ ในส่วนของพื้นที่นั้นกล่าวว่า “...ผังของการขึ้นทะเบียนครั้งนี้ถูกแสดงโดยหมายเลข๑ ในแผนที่ซึ่งเตรียมโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของกัมพูชาที่แนบมาด้วยนี้ และหมายเลข๒ ซึ่งเป็นพื้นที่กันชน(Buffer Zone)ทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ของตัวปราสาท…” ในส่วนของหมายเลข๑จะเห็นว่าแท้จริงแล้วกัมพูชาไม่มีสิทธินอกเหนือจากตัวปราสาทเลย(โปรดดูคำอธิบายของนักวิชาการเรื่อง การเข้าใจผิดเรื่องเส้นเขตแดนตามมติครม.๒๕๐๕) การยอมให้กัมพูชานำพื้นที่รอบตัวปราสาทไปขึ้นทะเบียนเพียงฝ่ายเดียวจึงเท่ากับเป็นการยินยอมยกดินแดนให้กัมพูชา
• แถลงการณ์ร่วมข้อที่๒ กล่าวไว้ราวกับกัมพูชาเป็นเจ้าของพื้นที่ว่า “ด้วยเจตนารมณ์แห่งมิตรไมตรี และการประนีประนอม ราชอาณาจักรกัมพูชายอมรับว่าการยื่นเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในขั้นนี้จะยังไม่รวมพื้นที่กันชนทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของตัวปราสาท” หมายความว่าในขั้นต่อไปจะต้องผนวกรวมพื้นที่กันชนทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกรวมเข้าไปด้วย โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นดินแดนไทย เท่ากับว่าไทยจะต้องยกพื้นที่อันเป็นของไทยรวมเข้าไปกับมรดกโลกของกัมพูชาด้วย แต่ในแผนที่ฉบับนี้กลับไม่ปรากฏเส้นเขตแดนของไทย ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาอย่างชัดแจ้งว่ากัมพูชาถือเอาพื้นที่บริเวณเขาพระวิหารทั้งหมดอยู่ในเขตแดนของกัมพูชา
• แถลงการณ์ร่วมข้อที่๓ กล่าวว่า “แผนที่ที่กล่าวถึงในย่อหน้าที่๑ ก่อนหน้านี้จะใช้แทนแผนที่ทั้งหมดตลอดจนรูปภาพอ้างอิงต่างๆที่แสดงให้เห็นเขตคุ้มครอง(Core Zone) และการกำหนดเขตอื่นๆ(other zonage)ในบริเวณปราสาทพระวิหาร” ข้อนี้เป็นปัญหามาก เพราะพื้นที่หมายเลข๓ ยังไม่มีการระบุเขตที่ชัดเจนและจะเกิดปัญหาการรุกล้ำเขตแดนไทยซึ่งเป็นบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร
• แถลงการณ์ร่วมข้อที่๔ กล่าวว่า “ในระหว่างที่ยังไม่มีผลของการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม(JBC) พื้นที่รอบปราสาทด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกที่กล่าวถึงในหมายเลข๓ ตามแผนที่ข้างบนนั้น พื้นที่นี้จะมีการจัดทำแผนบริหารจัดการร่วมกันโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของกัมพูชาและไทย อย่างสอดคล้องกับมาตรฐานการอนุรักษ์ในระดับสากล เพื่อธำรงรักษาคุณค่าอันเป็นสากลของตัวปราสาท ทั้งนี้จะรวมเอาแผนบริหารจัดการพื้นที่นี้เข้าไว้ในแผนบริหารจัดการขั้นสุดท้ายสำหรับตัวปราสาทและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งจะถูกบรรจุเข้าไว้ในศูนย์มรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่๓๔ ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๐” ในข้อนี้จะเห็นว่าการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมจะจัดทำขึ้นโดยกัมพูชาและไทย แต่ผลจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่าจะมีหน่วยงานของ ๗ ประเทศเข้ามาร่วมทำแผนบริหารจัดการพื้นที่โดยประเทศไทยจะเป็นเพียงหนึ่งในนั้น ซึ่งจะเป็นผลเสียและจะเป็นปัญหายุ่งยากสำหรับไทยตามมาอีกมากมาย เช่น อธิปไตยเหนือดินแดนเขาพระวิหาร สิทธิสภาพนอกอาณาเขต การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ปัญหาสิ่งแวดล้อม การบังคับใช้กฎหมายอุทยานของไทย ฯลฯ
• แถลงการณ์ร่วมข้อที่๕ กล่าวว่า “การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนของคณะกรรมาธิการร่วม(JBC)จะไม่ละเมิดต่อสิทธิของทั้งสองประเทศ ต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชานั้น ที่จะเป็นปัญหาจากแถลงการณ์ร่วมข้อนี้คือ หากมีการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนมาถึงบริเวณปราสาทพระวิหารนี้ กัมพูชาสามารถจะอ้างได้ว่าพื้นที่เขาพระวิหารทั้งหมดเป็นดินแดนของกัมพูชา เพราะกัมพูชามีข้อได้เปรียบดังนี้
๑) กัมพูชามีท่าทีที่ชัดเจนและยืนยันมาตลอดว่าเขาพระวิหารอยู่ในเขตแดนของกัมพูชา ตามแผนที่ ๑/๒๐๐,๐๐๐ โดยไม่มีพื้นที่ทับซ้อนกับไทยแต่อย่างใด
๒) กัมพูชาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เขาพระวิหารมากกว่าไทยโดยมีหลักฐานยืนยัน เช่น การตั้งชุมชนบ้านเรือนร้านค้าบริเวณทางขึ้นตัวปราสาท การตั้งชุมชนและวัดทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวปราสาท การตัดถนนจากบ้านโกมุยขึ้นมาที่ตัวปราสาทพระวิหาร
๓) ไทยได้รับรองแผนที่แนบท้ายแถลงการณ์ร่วมซึ่งกัมพูชาทำขึ้นโดยไม่ได้คัดค้าน ในกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร
๔) ทางการไทยยอมรับรองว่าแผนที่ ๑/๒๐๐,๐๐๐ ของกัมพูชาเป็นแผนที่คณะกรรมการปักปันสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.๑๙๐๔ (อธิบายแล้วในเรื่อง การใช้คำว่าแผนที่คณะกรรมการปักปันฯ)
๕) ทางการไทยยอมให้ ๗ ประเทศเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ ทั้งๆที่ไทยเคยยืนยันมาตลอดว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของไทย เท่ากับไทยละทิ้งอธิปไตยเหนือเขาพระวิหาร
๖) ไทยยอมละสิทธิโดยการยอมรับว่า”การปักปันเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ” หมายความว่า คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมจะไม่สามารถจัดทำหลักเขตแดนตามสันปันน้ำได้ แต่อาจจะต้องยึดตามแผนที่ของกัมพูชาซึ่งถูกรับรองโดยเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยว่าเป็นแผนที่ของคณะกรรมการปักปันร่วมสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.๑๙๐๔
-------------------------
ที่มา ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นายประกาสิทธิ์ แก้วมงคล
สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑

ไม่มีความคิดเห็น: