วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

ความหมายที่แตกต่างกันระหว่างคำว่า “การปักปันเขตแดน”และ “การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน”

การปักปันเขตแดนของประเทศไทย
ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ประเทศไทยได้มีการปักปันแนวเขตแดนไว้อย่างแน่ชัดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสี่ด้านร่วมกับประเทศชาติมหาอำนาจ ได้แก่ ด้านไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา ทำกับประเทศฝรั่งเศส ส่วนด้านไทย-พม่า และไทย-มาเลเซีย ทำกับประเทศอังกฤษ ซึ่งการดำเนินการในขณะนั้นทั้งสองฝ่ายได้จัดทำหลักฐานแสดงแนวเขตไว้ด้วย อาทิเช่น สนธิสัญญา อนุสัญญา แผนที่ปักปัน และหลักเขตแดน เพื่อใช้ในการอ้างสิทธิ์ดินแดน ทั้งนี้ หลักฐานดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบันและสืบสิทธิ์มายังประเทศเพื่อนบ้านภายหลังได้รับเอกราช สรุปได้ว่า แนวเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้กำหนดไว้แน่ชัดตั้งแต่ในอดีตและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแนวเขตแดนไปจากที่ตกลงกันไว้ได้
การสำรวจและปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนับตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบันแบ่งออกเป็น ๒ ยุค ได้แก่
ยุคแรก เป็นการสำรวจและปักปันเขตแดนร่วมกับประเทศมหาอำนาจ เรียกว่า “การสำรวจและปักปันเขตแดน” (Delimitation)
ยุคปัจจุบัน เป็นการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านโดยตรง เรียกว่า “การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน” (Demarcation)

การกล่าวอ้างว่า “การปักปันเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ”
อ้างถึงข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ นายเชิดชู รักตะบุตร ผู้เป็นพยาน ได้ให้ถ้อยคำต่อศาลปกครองว่า “...การปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา มีคณะกรรมาธิการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชาที่จัดตั้งขึ้นตามบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส ปีค.ศ.๑๙๐๔ และปีค.ศ.๑๙๐๗ รวมความยาวพื้นที่ชายแดนประเทศไทยที่ติดต่อประเทศกัมพูชา ๗๙๘ กิโลเมตร ที่ยังเจรจาปักปันเขตแดน ยังไม่สำเร็จ ซึ่งรวมทั้งเขตแดนบริเวณเขาพระวิหารด้วย จึงเชื่อว่ายังไม่มีการปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชาในบริเวณเขตแดนปราสาทพระวิหาร โดยคณะกรรมาธิการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นที่ยอมรับของประเทศทั้งสองแต่ประการใด...” (อ้างคำสั่งศาลปกครองกลาง คำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา,คดีหมายเลขดำที่ ๙๘๔/๒๕๕๑ วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ หน้า ๑๕)
และยังได้กล่าวไว้ในสมุดปกขาว กระทรวงการต่างประเทศ กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก หน้า ๒๒ กล่าวว่า “...ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรอปักปัน เขตแดนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศทั้งสองภายใต้กรอบคณะกรรมการเขตแดนร่วม”
ผลเสียจากการอ้างว่าการปักปันเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ
• สิ่งสำคัญที่สุดคือ การอ้างว่า”การปักปันเขตแดน(Delimitation)ยังไม่แล้วเสร็จ”นั้น น้ำหนักในการอ้างสิทธิเหนือดินแดนย่อมน้อยกว่าการอ้างสิทธิเหนือดินแดนที่อยู่ในขั้นตอนของ”การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน” และทำลายความชอบธรรมในการอ้างอธิปไตยของชาติเหนือดินแดนตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ณ บริเวณที่อ้าง
• ทำให้อ้างความชอบธรรมในการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนของประเทศ หรือจัดการปัญหาเรื่องเขตแดนที่ไม่มีความโปร่งใสอย่างกรณีนี้
• จะเป็นการจงใจหรือไม่ก็ตาม การอ้างดังกล่าวนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กัมพูชาอ้างสิทธิเหนือดินแดนไทย
ข้อเท็จจริง
• การปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชานั้น กระทำเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์แล้วตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.๑๙๐๔ (ร.ศ.๑๒๒)ซึ่งเป็นหนังสือสนธิสัญญาใหญ่ แม้ต่อมาภายหลังจะมีการทำสนธิสัญญาปักปันเขตแดนระหว่างสยาม-ฝรั่งเศสบริเวณกัมพูชาอีกครั้งในปี ค.ศ.๑๙๐๗ โดยเริ่มจากช่องเสม็ดไปสิ้นสุดที่ช่องเกล(ห่างจากเขาพระวิหารมาทางทิศตะวันตกประมาณ ๙๐ กิโลเมตร) ดังนั้นเขตแดนอันเป็นผลจากสนธิสัญญาปักปันเขตแดนทั้ง ๒ ฉบับ จึงมาบรรจบกันที่ช่องเกลนี้ และไม่ได้มีผลยกเลิกแนวเขตแดนบริเวณเขาพระวิหาร(สนธิสัญญา ๑๙๐๔) ซึ่งยังคงยึดถือตามสันปันน้ำแต่ประการใด จึงสรุปว่าการปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชานั้นได้เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์แล้วโดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ นับจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง ๑๐๔ ปี(ค.ศ.๒๐๐๘)
• ประเทศกัมพูชาเป็นอดีตประเทศในอารักขา(อาณานิคมอินโดจีน)ของฝรั่งเศส ดังนั้นเมื่อได้รับเอกราชแล้วย่อมเป็นผู้สืบสิทธิต่างๆต่อจากฝรั่งเศส สนธิสัญญาหรือพันธะกรณีใดๆที่ฝรั่งเศสได้ทำไว้กับประเทศไทย(สยาม)ไม่ว่าจะเป็นสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.๑๙๐๔ และสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.๑๙๐๗ย่อมมีผลผูกพันกัมพูชาด้วย ดังนั้นกัมพูชาจะปฏิเสธการยอมรับผลของการปักปันฯที่เกิดขึ้นและเสร็จสิ้นมาแล้วนั้นไม่ได้
• ดังนั้นย่อมยืนยันได้อย่างแน่นอนว่า ไม่มีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา เพราะได้มีการปักปันกันเอาไว้ชัดเจนแล้วตามสนธิสัญญา แม้ว่ากัมพูชาจะอ้างแผนที่คนละฉบับกับไทย แต่แผนที่ที่กัมพูชาใช้นั้นไม่ถูกต้องตรงตามสนธิสัญญา จึงไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงเหนือสนธิสัญญาได้
• Joint Boundary Committee;JBC หรือคณะกรรมาธิการชายแดนร่วมไทย-กัมพูชาเป็นคณะทำงานที่ตั้งขึ้นตามบันทึกความเข้าใจของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย(Memorandum of Understanding;MOU) เมื่อวันที่ ๑๔ มิ.ย.พ.ศ.๒๕๔๓ ให้ทำการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน(Demarcation)ทางบกตลอดแนว ตามที่ได้มีการเจรจาปักปันกันไว้แล้วตามสนธิสัญญาและอนุสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) ไม่ใช่ทำหน้าที่ปักปันเขตแดนตามที่บุคคลต่างๆกล่าวอ้าง เพราะได้เสร็จสิ้นไปแล้วตามคำอธิบายข้างต้น
• เจ้าหน้าที่กองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศและเจ้าหน้าที่กรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด ย่อมเป็นผู้ที่รู้เรื่องนี้ตลอดจนเทคนิคขั้นตอนต่างๆดีที่สุด แต่ก็ยังพยายามพูดข้อมูลอันเป็นเท็จทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดความสับสนอยู่ตลอดเวลา
----------------
ที่มา ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นายประกาสิทธิ์ แก้วมงคล
สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑

ไม่มีความคิดเห็น: