วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2551

ผลงานการรักษาสันติภาพของกองทัพไทยในกัมพูชา

ประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้ยึดมั่นหลักการในกฎบัตรสหประชาชาติที่กำหนดไว้ในหมวดที่ ๑ มาตราที่ ๒ อย่างเคร่งครัดเสมอมา โดยเฉพาะการยึดมั่นการแก้ไขปัญหา
ข้อพิพาทระหว่างชาติด้วยสันติวิธี โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสันติภาพ ความมั่นคงและกระบวนการยุติธรรมระหว่างประชาชาติ ตลอดจนการละเว้นการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในลักษณะที่คุกคามหรือการใช้กำลังหรือคุกคามต่ออธิปไตยในดินแดนหรือเอกราชของชาติอื่นๆ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทุกการปฏิบัติภารกิจที่สหประชาชาติได้ดำเนินการที่จำเป็นต่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ
การยืนยันจุดยืนของประเทศไทยตามหลักการขององค์การสหประชาชาติดังกล่าว จะเห็นได้จากผลการปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพของกองทัพไทย ภายใต้กรอบสหประชาชาติ กรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค และกองกำลังพันธมิตรซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้การรับรองโดยข้อมติสหประชาชาติ
รวม ๑๓ ภารกิจ เริ่มตั้งแต่ภารกิจของสหประชาชาติในคาบสมุทรเกาหลี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓
(ค.ศ.๑๙๕๐) จนถึงภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในซูดานซึ่งยังคงปฏิบัติภารกิจนี้อยู่ปัจจุบัน
ภารกิจภายใต้กรอบองค์กรการสหประชาชาติที่สำคัญประการหนึ่งของกองทัพไทยซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจและมีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ การเข้าร่วมภารกิจ UNAMIC (United Nation Advance Mission in Cambodia) ตามข้อมติที่ ๗๑๗ (ค.ศ.๑๙๙๑) เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๔
(ค.ศ.๑๙๙๑) ซึ่งในวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๕ (ค.ศ.๑๙๙๒) เลขาธิการสหประชาชาติได้ขอให้ประเทศไทยส่งกองพันทหารช่างเข้าภารกิจนี้ในประเทศกัมพูชา และเดือนต่อมา (วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕) คณะรัฐมนตรีของไทยก็มีมติให้ส่งกองพันทหารช่างเฉพาะกิจ จำนวน ๗๐๕ นาย เข้าปฏิบัติภารกิจซ่อมแซมเส้นทาง สะพาน สนามบิน ลาดตระเวนทางการช่าง เก็บกู้ระเบิด และปฏิบัติงานช่างทั่วไป สนับสนุนหน่วยงานของ ANTAC (United Nations Transitional Authority in Cambodia) โดยกองทัพบกได้เคลื่อนย้ายกำลังเข้าปฏิบัติภารกิจในประเทศกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์
พ.ศ.๒๕๓๕ (ค.ศ.๑๙๙๒) รวมเวลาประมาณ ๑ ปี ๘ เดือน
ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อการรักษาสัมพันธไมตรีกับประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศ
เพื่อนบ้านและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันก็ยังให้ความช่วยเหลืออยู่เช่นเดิม และไม่ได้ยกเลิกความช่วยเหลือแต่ประการใด แม้ว่าจะเป็นห้วงเวลาการเกิดปัญหาพิพาท
เขตแดน ไทย – กัมพูชา ซึ่งประเทศไทยเห็นว่าเป็นปัญหาปกติของทุกประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกัน และปัญหาความขัดแย้งนี้สามารถแก้ไขด้วยการเจรจาอย่างสันติวิธี ตามที่ทั้งสองประเทศได้ร่วมลงนามไว้ในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นการปฏิบัติการใดๆ ของกองทัพไทย จะคำนึงถึงการดำรงรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างชนชาติของทั้งสองประเทศ เป็นประการสำคัญ แต่คงใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับกรอบดำเนินงานร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ในขอบเขตกฎหมายของแต่ละประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด

ไม่มีความคิดเห็น: