วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

ความเสียหายรุนแรงยังไม่จบสิ้น

สมุดปกขาวของกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งกลายเป็นเอกสารหายากแล้วในเวลานี้ ยิ่งทำให้เห็นความจริงที่เป็นเรื่องความเสียหายอย่างรุนแรงว่ายังมีไม่จบสิ้น
คงมีใครเอาที่ดิน ๔.๖ ตารางกิโลเมตร (ประมาณ ๒,๙๐๐ ไร่) ไปขายให้กัมพูชาตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๔๙ !
กัมพูชาประกาศกฤษฎีกากำหนดพื้นที่อนุรักษ์ปราสาทพระวิหารตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๔๙ และพื้นที่พัฒนา ๔.๖ ตารางกิโลเมตร “ทับซ้อนอยู่กับดินแดนไทย” และน่าสังเกตว่าในปีนี้ (๒๕๔๙) กัมพูชาก็ได้ขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอีกครั้งหนึ่งและได้รับการเสนอว่าจะให้เข้าที่ประชุมสมัยที่ ๓๑ ณ เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ (อย่าลืมว่าเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๘ กัมพูชายื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนไว้ แต่ศูนย์มรดกโลกได้ขอให้กัมพูชาเสนอเอกสารประกอบการยื่นขอขึ้นทะเบียนใหม่ โดยเฉพาะแผนที่ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่กันชน ซึ่งกัมพูชากำหนดพื้นที่ครอบคลุมทั้งของกัมพูชาและไทย คณะทำงานของศูนย์มรดกโลกแนะนำว่าหากกัมพูชาจะร่วมมือกับไทยในเรื่องนี้ โดยขอให้ไทยกำหนดพื้นที่กันชนในเขตของไทย ก็จะทำให้การยื่นขอขึ้นทะเบียนของกัมพูชามีน้ำหนักมากขึ้น กัมพูชาจึงยื่นเอกสารอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๓๐ ม.ค. ๒๕๔๙) และพื้นที่นี้ถูกนำไปกำหนดเขตในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ข้อ ๒ และข้อ ๔ ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่กันชน (ดูในสมุดปกขาวของกระทรวงการต่างประเทศ หน้า๔๒ และ ๖) อันเป็นผลผูกพันและยกเลิกต่อ WHC ไม่ได้ในขณะนี้ หรือแม้แต่ขอยกเลิกต่อกัมพูชา
ความพยายามเลี่ยงบาลีของหน่วยงานที่มีบทบาทโดยตรง ๒ หน่วยงาน คือ กระทรวงการต่างประเทศ กับกรมแผนที่ทหาร ที่เลี่ยงไปใช้คำว่า “พื้นที่ทับซ้อน” และ “เส้นเขตแดนตามมติ ครม. ๒๕๐๕” หรือที่พยายามอธิบายว่า “เส้นเขตแดนที่ต่างกัน” นั้น ความต่างกันจึงไม่ใช่จากแผนที่คนละฉบับหรือแผนที่ที่ต่างกันเหมือนก่อนปี ๒๕๔๙ หากแต่เป็นต่างกันเพราะการยอมรับเส้นเขตแดนใหม่ของกัมพูชา ตามแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำแต่ฝ่ายเดียว บวกกับเขตพื้นที่อนุรักษ์ปราสาทพระวิหารและพื้นที่พัฒนาตามประกาศกฤษฎีกา เดือนเมษายน ๒๕๔๙ ของกัมพูชา

แผนที่และคำอธิบายในสมุดปกขาวหน้า ๘ ของ กระทรวงการต่างประเทศ

แล้วจะจัดการอย่างไรต่อเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ หากมีการขึ้นทะเบียนร่วมของไทย ตอบได้ว่า ผลผูกพันนั้นก็จะยิ่งหนักหนาต่อไป การบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์จะมีปัญหามาก เพราะกัมพูชาจะถือว่า
๑) ดินแดนเป็นของตน
๒) โครงการเป็นของตน และกำหนดโดยตน และ
๓) กรรมการดูแลมาตรฐานเป็นนานาชาติที่กัมพูชาเชื้อเชิญมา การที่ไทยเข้าไปร่วมด้วยอีก ๑ ชาติจะต้องรู้ตัวว่าไม่ใช่ชาติเจ้าของดินแดน หรือเจ้าอธิปไตยแต่อย่างใด
การขอขึ้นทะเบียนร่วมของไทยที่ WHC กล่าวว่าขอซ้ำแล้วซ้ำอีกนั้น จึงเป็นการกลบเกลื่อนให้แนบเนียนเพราะคิดว่าจะไม่มีใครรู้เรื่องการยอมยกดินแดน ๔.๖ ตารงกิโลเมตร ให้กัมพูชาไป แล้วทำให้กัมพูชายืนยันได้ว่าการขึ้นทะเบียนของตนจะไม่มีผลกระทบต่อเขตแดน (สมุดปกขาวของกระทรวงการต่างประเทศ หน้า๑๑) นักการเมืองและข้าราชการไทยถึงออกมาโต้อยู่ตลอดเวลาว่าไม่เสียดินแดน พูดได้เพราะว่าได้รับรองดินแดน ๔.๖ ตารางกิโลเมตร ว่าเป็นของกัมพูชาตามประกาศกฤษฎีกาเขตพื้นที่อนุรักษ์ปราสาทพระวิหารของกัมพูชาไปเรียบร้อยแล้ว
แผนที่ใหม่ของกัมพูชา จึงเป็นแผนที่ที่ปรับเปลี่ยนตามประกาศกฤษฎีกา เดือนเมษายน ๒๕๔๙ การที่ฝ่ายไทยไปยอมรับแผนที่ใหม่ของกัมพูชาย่อมมีผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ซึ่งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายระหว่างประเทศคือสนธิสัญญา ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นคำว่า “การปักปันเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ” จึงถูกนำมาใช้ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความชอบธรรม กันความผิด ในการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตในครั้งนี้ ความคิดที่แยบยลมากกว่านี้ที่จะแปลงความผิดให้เป็นภาระผูกพันที่เกิดขึ้นกับเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลก คือ การดำเนินการให้ฝ่ายไทย “ขึ้นทะเบียนร่วม”
การขึ้นทะเบียนร่วมด้วยเงื่อนไขนี้แม้จะอ้างเหตุผลความงดงามแห่งวัฒนธรรมก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับประเทศไทย เพราะการที่ประเทศไทยนำเอาโบราณสถานของไทยและดินแดนของประเทศไทยไปขึ้นทะเบียนร่วมกับกัมพูชานั้นประเทศไทยจะตกอยู่ในสภาพ หรือภาระผูกพัน ดังนี้
๑) กัมพูชาจะเป็นผู้บริหารจัดการหลัก และสามารถบริหารในส่วนที่เป็นโบราณสถานของไทยและพื้นที่ของไทย (๔.๖ ตารางกิโลเมตร หรือ ๒,๙๐๐ ไร่) ซึ่งจะถูกรวมเข้าไปกับพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่กันชน ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นของกัมพูชาทั้งหมด
๒) ประเทศไทยไม่มีสิทธิบริหารจัดการพื้นที่และโบราณสถานของไทยเองโดยลำพัง แต่ไทยจะเป็นเพียงหนึ่งในเจ็ดประเทศ(ICC) ที่จะเข้ามาจัดการมรดกอันเป็นของไทย โดยอ้างความเป็นมาตรฐานสากล
ผู้มีส่วนสร้างปัญหาทั้งหลาย พยายามผลักดันเรื่องนี้ด้วยการดำเนินการอย่างเร่งรีบให้ทันภายในเวลาที่กำหนด กล่าวคือไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
ในสังคมสมัยใหม่และการเมืองแบบใหม่ ไม่ใช่การเมืองเผด็จการเสียงข้างมาก เรื่องเช่นนี้จะถูกตรวจสอบ ไม่ช้าก็เร็วก็จะรู้ว่าพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตรนั้น แม้จะเป็นที่รกชัฏห่างไกล แต่ก็เป็นอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย
หมู่บ้านในพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร มี ๕ หมู่บ้านคือ หมู่บ้านภูมิซรอล หมู่ที่๒ ต.เสาธงชัย หมู่บ้านภูมิซรอล๒ หมู่ที่๑๒ ต.เสาธงชัย หมู่บ้านภูมิซรอลใหม่ หมู่ที่๑๓ ต.เสาธงชัย หมู่บ้านชำเม็ง หมู่ที่๓ ต.เสาธงชัย และบ้านโนนเจริญ หมู่ที่๑๐ ต.เสาธงชัย
ชาวบ้านอาศัยอยู่ตามชายขอบทางทิศเหนือ แถบริมถนน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา มีที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร และศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
หากพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตรนี้ เป็นพื้นที่กันชนและต้องอยู่ในการบริหารจัดการมรดกโลกจากการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชาแล้ว ปัญหาที่ตามติดต่อมา คือ เรื่องสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน สัญชาติ ฯลฯ ทั้งหมดรวมอยู่ในกรอบความคิดเรื่องเขตแดนที่หมายถึงประโยชน์และความเป็นธรรม เป็นงานที่ทีมวิชาการนี้เคยได้สัมผัสและตระหนักมาแล้วจากกรณีเขตแดนไทยลาว

แผนที่แสดงเขตชุมชนอำเภอกันทรลักษ์

-----------------
ที่มา ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นายประกาสิทธิ์ แก้วมงคล
สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑

ไม่มีความคิดเห็น: