วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

การเข้าใจผิดเรื่อง“เส้นเขตแดนตามมติคณะรัฐมนตรี ๒๕๐๕”





ภาพที่๑ แผนที่ ๑/๒๐๐,๐๐๐ ของกัมพูชาภาพที่๒ อ้างว่าเป็นเส้นเขตแดนตามมติครม.๒๕๐๕


ภาพที่๓ ประตูเหล็กและรั้วลวดหนามตามมติครม.๒๕๐๕ภาพที่๔ แผนที่แนบท้ายแถลงการณ์ร่วม รวมเอาบันไดของไทยไปด้วยทั้งหมด

จากการที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยและกรมแผนที่ทหารและหน่วยราชการต่างๆของไทยได้เกิดความเข้าใจผิดว่า เส้นแสดงเขตที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ให้กั้นแนวปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกที่ระบุว่าไทยต้องถอนกองกำลังออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารนั้นเป็นเส้นเขตแดน หรือความเข้าใจผิดว่ามติครม.๒๕๐๕ นั้นเป็นการเปลี่ยนเส้นเขตแดนของไทย ดังปรากฏข้อความต่อไปนี้ในสมุดปกขาวของกระทรวงการต่างประเทศว่า “...คณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีมติให้คืนตัวปราสาทและพื้นที่โดยรอบปราสาทไปตามที่ศาลโลกตัดสิน และได้มีการกำหนดขอบเขตเส้นเขตแดนไทยบริเวณนี้ตามที่ไทยยึดถือใหม่ ซึ่งยังคงยึดถือตามสันปันน้ำเป็นหลัก เพียงแต่ได้กันเอาเขตตัวปราสาทพระวิหารออกคืนไปให้กัมพูชา เส้นเขตแดนตามมติคณะรัฐมนตรี ๒๕๐๕ นี้ ยังเป็นเส้นเขตแดนที่หน่วยราชการต่างๆของไทยยึดถือมาจนถึงปัจจุบันนี้...” (อ้าง สมุดปกขาวกระทรวงการต่างประเทศ มิถุนายน ๒๕๕๑ กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก หน้า ก บทสรุปผู้บริหาร)
และตามที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำเอกสารกล่าวหาว่า รัฐบาลไทยโดย ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (เมื่อพ.ศ.๒๕๐๕) ได้มีหนังสือแจ้งเลขาธิการสหประชาชาติ และ ”....โดยได้ส่งแผนที่แสดงพื้นที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร ซึ่งสอดคล้องกับที่มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๐๕ (เอกสารแนบ๓) และขอให้เลขาธิการสหประชาชาติแจ้งให้สมาชิกสหประชาชาติทราบว่าไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยสละอธิปไตย (relinquished her sovereignty) เหนือพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารตามแผนที่ดังกล่าว...” ( อ้าง กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. เอกสารชี้แจง เรื่อง ภูมิหลังและคำชี้แจงเกี่ยวกับการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร ลง วันที่ ๒๗ มิ.ย. ๕๑ เวลา ๒๒.๐๐ น.)
ข้อเท็จจริง
• ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ และหนังสือสั่งการลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ให้กระทรวงมหาดไทยไปจัดทำแนว ทำป้ายและกั้นรั้วลวดหนามรอบปราสาทพระวิหารนั้น เป็นการกั้นแนวเจตนาเพื่อเป็นการแสดงแนวปฏิบัติการ(Operational Line)ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย และเป็นการปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกที่ระบุว่าไทยต้องถอนกองกำลังออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่เป็นการกำหนดเส้นเขตแดน(Border Line) ใหม่ (อ้าง มติครม.วันที่ ๑๐ ก.ค.๒๕๐๕ และหนังสือสั่งการของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ มท.๘๑๗๖/๒๕๐๕ ถึงรมว.มหาดไทย เรื่อง การปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร ลงวันที่ ๑๑ ก.ค.๒๕๐๕)
ดังนั้นมติคณะรัฐมนตรี ๒๕๐๕ จึงไม่ใช่การเปลี่ยนเส้นเขตแดนของไทย เส้นเขตแดนของไทยที่เขาพระวิหารยังอยู่ที่สันปันน้ำเหมือนเมื่อก่อนที่ศาลโลกตัดสินทุกประการ
• แผนที่แสดงการกั้นแนวเขตตามมติคณะรัฐมนตรี ๒๕๐๕ ที่ปรากฏอยู่ในสมุดปกขาว(เอกสารแนบ๓) ของกระทรวงการต่างประเทศนั้น (รูปภาพที่๑) แสดงการลากเส้นตามมติคณะรัฐมนตรี ๒๕๐๕ ครอบคลุมบันไดทางขึ้นทั้งหมดให้เป็นของกัมพูชา ซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากหลักฐานอื่นๆที่ปรากฏ เช่น หนังสือกระทรวงมหาดไทย ในข้อเสนอทางเลือกที่๒ ที่เสนอว่า “...กำหนดพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบปราสาทพระวิหาร มีแนวเขตจากปีกขวาของตัวปราสาทพระวิหารตั้งแต่ช่องบันไดหัก (ช่องบันไดหักอยู่ในบริเวณปราสาทพระวิหาร) ลากเส้นตรงผ่านชิดบันไดนาค ตรงไปจนถึงปราสาทพระวิหาร แล้วลากเส้นตรงขนานกับตัวปราสาทพระวิหารไปสุดที่หน้าผาชันด้านหลังปราสาทพระวิหาร จะเป็นเนื้อที่บริเวณปราสาทพระวิหารประมาณ ๑/๔ ตารางกิโลเมตร...” (อ้าง หนังสือกระทรวงมหาดไทย เลขที่๑๑๔๖๗/๒๕๐๕ เรื่อง การปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร ลงวันที่ ๖ ก.ค.๒๕๐๕)
และข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่ในสมุดปกขาวของกระทรวงการต่างประเทศด้วยเช่นกันในหน้าที่๒ ว่า”…มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ รัฐบาลไทยได้คืนตัวปราสาทพระวิหารให้แก่กัมพูชา โดยกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่คืนให้แก่ฝ่ายกัมพูชาทางทิศเหนือที่ระยะ ๒๐ เมตร จากบันไดนาคไปทางตะวันออกจนถึงช่องบันไดหัก และทางทิศตะวันตกที่ระยะ ๑๐๐ เมตรจากแกนของตัวปราสาทไปทางทิศใต้จนจรดขอบหน้าผา...”
• การที่กระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่าแนวดังกล่าวเป็นเส้นเขตแดนจะเท่ากับเป็นการยกพื้นที่รอบตัวปราสาทซึ่งนอกเหนือจากคำตัดสินของศาลโลกให้เป็นของกัมพูชาโดยปริยาย การนำเอาแผนที่ที่ผิดมาใช้อ้างดังนี้จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม จะทำให้เกิดผลเสียหายตามมาอย่างน้อย ๓ ประการคือ ประการที่๑ ยกพื้นที่รอบตัวปราสาทนอกเหนือจากคำตัดสินของศาลโลกให้กัมพูชา ประการที่๒ ยกบันไดทางขึ้นปราสาทตั้งแต่ขั้นที่ ๑-๑๖๒ ซึ่งเคยเป็นของไทยให้กับกัมพูชา ประการที่๓ ละทิ้งการสงวนสิทธิของไทยเหนือปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบปราสาท
• คณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ไม่ได้ยกบันไดทางขึ้นปราสาทให้กัมพูชา และได้ทำประตูเหล็กกั้นบันไดทางขึ้น(รูปภาพที่๒) ซึ่งไทยครอบครองบันไดทางขึ้นหลักตั้งแต่ขั้นที่๑-๑๖๒ มาตั้งแต่พ.ศ.๒๕๐๕ แม้กัมพูชาจะอ้างว่าการกั้นรั้วลวดหนามรอบตัวปราสาทและประตูเหล็กนี้ไทยเป็นผู้จัดทำขึ้นเพียงฝ่ายเดียวก็ตาม แต่กัมพูชาก็ยอมรับและปฏิบัติตามมาเป็นเวลาหลายสิบปี(พ.ศ.๒๕๐๕-๒๕๔๒) เป็นการยืนยันว่าประเทศไทยเป็นผู้ครอบครองทางขึ้นหลักของปราสาทพระวิหารมาก่อนที่กัมพูชาจะนำเอาไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
• ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยตรงในขณะนั้น เป็นผู้ร่างหนังสือแจ้งเลขาธิการสหประชาชาติฉบับดังกล่าวให้แก่ ฯพณฯ ดร.ถนัด คอมันตร์ ด้วยตนเอง ยืนยันว่า หนังสือฉบับดังกล่าว(ซึ่งร่างเอง)ไม่มีการแนบแผนที่แสดงที่ตั้งตัวปราสาทพระวิหารตามที่กระทรวงการต่างประเทศกล่าวอ้างแต่อย่างใด และในหนังสือฉบับดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีการแนบ(attach)เอกสารใดๆตรงตามที่ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ยืนยันทุกประการ (อ้าง Ministry of Foreign Affairs NOTE TO U.N. ACTING SECRETARY-GENERAL No.(0601)22239/2505 July 6,B.E.2505(1962))
-------------------------
ที่มา ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นายประกาสิทธิ์ แก้วมงคล
สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑

ไม่มีความคิดเห็น: