วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

การรับรองแผนที่ของกัมพูชาเป็น “แผนที่คณะกรรมการปักปันสยามฝรั่งเศส”

ประเด็นสำคัญของการอ้างคำว่า”แผนที่คณะกรรมการปักปันสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.๑๙๐๔” คือ การบิดเบือนข้อเท็จจริงและเป็นการรับรองแผนที่ของกัมพูชา
ตามที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ใช้คำว่า”แผนที่คณะกรรมการปักปันสยาม-ฝรั่งเศส”เรียกแผนที่ซึ่งกัมพูชาใช้ยึดถือเป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ดังปรากฏในเอกสารแนบหมายเลข ๒ ในหนังสือกระทรวงการต่างประเทศ หมายเลข กต.๐๘๐๓/๔๕๓ ส่งไปยังราชเลขาธิการ เรื่อง ผลการดำเนินการและการเจรจาของกระทรวงการต่างประเทศกรณีกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ และกล่าวอีกหลายครั้งในสมุดปกขาวของกระทรวงการต่างประเทศ เรื่อง กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นการกล่าวในลักษณะยอมรับสถานภาพของแผนที่ของกัมพูชาว่าเป็นแผนที่ของคณะกรรมการปักปันร่วมสยาม-ฝรั่งเศส ทำขึ้นร่วมกันตามสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ และกัมพูชาเป็นผู้ใช้แผนที่ฉบับนี้ในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันทำให้แผนที่ L๗๐๑๗ ซึ่งประเทศไทยใช้ยึดถือนั้นมีสถานะด้อยกว่าแผนที่ของกัมพูชา


ข้อเท็จจริง
• แผนที่ของกัมพูชา มาตราส่วน ๑/๒๐๐,๐๐๐ ดังกล่าวเป็นแผนที่ซึ่งฝรั่งเศสจัดทำขึ้นฝ่ายเดียวโดยไม่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ แต่ประการใด เนื่องจากคณะกรรมการผสมชุดดังกล่าวได้ยุบเลิกไปในเดือนมีนาคม ๑๙๐๗ ก่อนที่จะมีการจัดทำแผนที่ฉบับดังกล่าวขึ้นมาเป็นเวลาถึง ๑ ปี ส่วนแผนที่ฉบับนี้(๑/๒๐๐,๐๐๐) ได้ถูกพิมพ์ขึ้นที่กรุงปารีส ในระหว่างฤดูร้อนปี ค.ศ.๑๙๐๘ ดังนั้นคณะกรรมการผสมที่ตั้งขึ้นตามสนธิสัญญา ๑๙๐๔ จึงไม่มีโอกาสได้เห็นแผนที่ฉบับดังกล่าวเลย ดังนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวว่าแผนที่ฉบับนี้(๑/๒๐๐,๐๐๐)เป็นแผนที่ของคณะกรรมการปักปันสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.๑๙๐๔
• แผนที่ ๑/๒๐๐,๐๐๐ ฉบับดังกล่าวนั้น กัมพูชาเคยใช้เป็นเอกสารแนบท้ายคำฟ้อง(แผนที่ผนวก๑) ในคดีปราสาทพระวิหาร ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(The International Court of Justice)หรือศาลโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๒-๒๕๐๕ ดังปรากฏว่า ในคำขอทั้ง ๕ ข้อที่กัมพูชาขอให้ศาลชี้ขาดนั้น ศาลได้ตัดสินให้กัมพูชาชนะเพียง ๓ ข้อ(ข้อ๓,๔,๕) คือ (ข้อ๓)กัมพูชามีอธิปไตยเหนือพื้นที่ที่ตัวปราสาทตั้งอยู่ (ข้อ๔)ขอให้ไทยถอนกองกำลังทหาร ตำรวจหรือยามออกจากออกจากบริเวณใกล้เคียง (ข้อ๕)ขอให้ไทยคืนวัตถุโบราณที่หายไปจากปราสาทหลัง ค.ศ.๑๙๕๔ โดยไม่ได้ระบุรายการว่ามีอะไรบ้าง(คำพิพากษาหน้า๓๕/๓๗) ส่วนข้อ๑ และข้อ๒ นั้นศาลมิได้ชี้ขาดว่า แผนที่ ๑/๒๐๐,๐๐๐ นั้นเป็นแผนที่ที่ทำขึ้นโดยได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการผสมทั้งสองฝ่าย หรือมีสถานภาพตามกฎหมายที่ถูกต้อง และข้อ๒ ศาลไม่ได้ชี้ขาดว่า เส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่ ๑/๒๐๐,๐๐๐ ของกัมพูชาเป็นเส้นเขตแดนที่ถูกต้องระหว่างไทยกับกัมพูชา
• ผู้พิพากษา ๓ ท่าน ได้ให้ความเห็นต่อแผนที่ ๑/๒๐๐,๐๐๐ ของกัมพูชาไว้อย่างชัดเจนว่า
๑) แผนที่ผนวก๑ นั้นผิดพลาดไม่ถูกต้องในบริเวณปราสาทพระวิหาร
๒) เส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่ผนวก๑ นั้นคลาดเคลื่อน และ
๓) เส้นสันปันน้ำตามสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ อยู่ที่ขอบหน้าผาในบริเวณปราสาทคือเส้นเขตแดนปันปราสาททั้งหมดให้อยู่ในเขตไทย (อ้าง คำพิพากษาศาลโลก คดีปราสาทพระวิหาร /ความเห็นแย้งของ Sir Percy Spender, Wellington Koo, Moreno Quintana และยังมีคำพิพากษา(เอกเทศ)ของ Sir Gerald Fitzmaurice)
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าแผนที่๑/๒๐๐,๐๐๐ ของกัมพูชา ไม่ใช่แผนที่ของคณะกรรมการปักปันร่วมสยาม-ฝรั่งเศสตามสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ เป็นเส้นเขตแดนที่ขัดแย้งกับสนธิสัญญาค.ศ.๑๙๐๔ และเป็นเส้นเขตแดนที่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลากไว้โดยปราศจากอำนาจ จึงเป็นแผนที่โคมลอยที่เชื่อถือไม่ได้ (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช คดีเขาพระวิหาร ๒๕๐๕ : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี สี่แยกซังฮี้ ถนนสามเสน พระนคร หน้า ๔๗/๔๘)
--------------------
ที่มา ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นายประกาสิทธิ์ แก้วมงคล
สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑

ไม่มีความคิดเห็น: