วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2551

ข้อมูลจากรายการเวทีสาธารณะ

โดยภาพรวมของรายการ คุณภารณีนำเสนอมุมมองการทำงานข้อมูลภาคประชาชนที่ค่อนข้างเด่นมาก โดยมีมุมมองของกูรูนักประวัติศาสตร์ระดับชาติ (ตอนนี้น่าจะต้องถือว่าเป็นระดับโลกไปแล้ว เมื่ออารยธรรมปราสาทเป็นมรดกโลก) คืออาจารย์นิธิกับอาจารย์ศรีศักดิ์ที่มาเปิดมุมมองเกี่ยวกับการจัดการปัญหาปราสาทพระวิหารได้อย่างกว้างขวางครอบคลุม

กล่าวโดยสรุปทั้ง 3 ท่านมีความเห็นตรงกันดังนี้

1.มรดกโลกจะเป็นมรดกโลกได้ก็ด้วยคุณค่าในเชิง "องค์ความรู้" มิใช่การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เมื่อข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารยังไม่มีความร่วมมือที่ชัดเจน ประกอบกับองค์ความรู้ปราสาทพระวิหารปัจจุบันถูกตัดออกเป็นส่วนๆ ด้วยประเด็นเรื่องเขตแดน อธิปไตย และผลประโยชน์ในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ทำให้ปราสาทพระวิหารสูญเสียคุณค่าในเชิงมรดกโลกลงอย่างสิ้นเชิง โดยเป็นได้แค่แหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น คำถามสำคัญในประเด็นนี้ก็คือ "คนที่มามรดกโลก เขาได้อะไรจากการมามรดกโลก?"

2.ปราสาทพระวิหารเป็นตัวแทนของจุดศูนย์กลางอารยธรรมหนึ่งในเครือข่ายอารยธรรมแถบลุ่มน้ำชี-มูล-ลุ่มทะเลสาบเขมรที่ติดต่อเดินทางผ่านช่องเขาต่างๆ ซึ่งมีระบบความคิดความเชื่อแบบเดียวกัน การมีปราสาทหินต่างๆ กระจายอยู่ทั่วบริเวณเหล่านี้มิใช่สิ่งบังเอิญ แต่เป็นศรัทธาความเชื่อพิธีกรรมเกี่ยวกับ "ผีต้นน้ำ" ในการดูแลคุ้มครองความปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรืองในศูนย์กลางอารยธรรมทางสังคมเศรษฐกิจที่สำคัญต่างๆ ซึ่ง "น้ำศักดิ์สิทธิ์" จากผีต้นน้ำจะไหลไปรวบรวมใน "สระตราว" ก่อนที่จะไหลลงห้วยที่ชุมชนใช้ดื่มกิน ดังนั้นกรณีของปราสาทในแง่มุมขององค์ความรู้จึงสัมพันธ์กับลักษณะชุมชน เครือข่ายสัมพันธ์ทางสังคม และทรัพยากรธรรมชาติโดยรอบที่รองรับการมีอยู่ของตัวปราสาท

3.ในการยกปราสาทเป็นมรดกโลกนั้น ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ขาดการเผยแพร่ข่าวสารและความเข้าใจในผลกระทบที่ชัดเจนว่าปราสาทเป็นมรดกโลกแล้วได้อะไรเสียอะไร สิ่งที่เป็นข่าวมักมีเนื้อหาบิดเบือนไปมาอยู่ตลอดเวลาทั้งจากฝั่งไทยและกัมพูชา

4.การบริหารจัดการปราสาทพระวิหารโดยคณะกรรมการร่วม 7 ชาติมาจากไหน? ทำไมถึงเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว? ปรากฎการณ์นี้เป็นสิ่งสะท้อน political decision ของมหาอำนาจในคณะกรรมการมรดกโลก ที่จะเข้ามาบริหารจัดการและส่งผลกระทบในแง่มุมของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่

5.การที่คณะกรรมการมรดกโลกนำเหตุผลเกี่ยวกับ "buffer zone" เข้ามาพิจารณาและอ้างสิทธิในการให้คณะกรรมการ 7 ชาติเข้าร่วมบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าว มิได้มีการชี้อย่างชัดแจ้งว่าคือพื้นที่บริเวณใด ทั้งนี้ทั้งนั้นบริเวณดังกล่าวจะต้องไม่ใช่พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่ไทยกับกัมพูชาได้ตกลงร่วมกันตั้งแต่ปี 2542 ที่มิให้มีสิ่งปลูกสร้างใดใดเพิ่มเติม

6.บทบาทไทยในปัจจุบันถูกบีบให้มีคำตอบได้แค่ say yes – say no ทั้งๆ ที่เราควรมีสิทธิในการถามกลับในรายละเอียดความร่วมมือที่ชัดเจน รวมทั้งมีสิทธิถามกลับว่า คณะกรรมการมรดกโลกได้ทำตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์หลักขององค์กรหรือเปล่า นั่นคือการมองคุณค่าของมรดกโลกในมุมขององค์ความรู้ของมนุษยชาติ (มิใช่แหล่งศิลปกรรมแหล่งท่องเที่ยวที่ปล่อยให้ฝรั่งมายืนกอดกันถ่ายรูป)

7.ชั่งน้ำหนักให้ดีว่าถ้ายอมแล้วต้องทำแบบเค้า กับไม่ยอมแล้วทำแบบเราอะไรเป็นประโยชน์ รวมทั้งการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในลักษณะนี้นั้นทำให้เสียศักดิ์ศรีของการเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นแหล่งอารยธรรมของโลกหรือไม่

8.แนวทางปัจจุบันจึงควรแขวนเรื่อง 7 ประเทศไว้ก่อน แล้วกลับมาจัดการเป้าหมายหลักเรื่อง "แหล่งเรียนรู้ของโลก" นั่นคือสร้างความร่วมมือที่จะพัฒนาองค์ความรู้ที่ชัดเจนร่วมกันระหว่างกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องคือเรากับกัมพูชาให้ได้ขึ้นมาเสียก่อน ก่อนที่จะมากล่าวประเด็น Yes-No เพราะไม่เพียงที่เราจะเสียเปรียบ แต่กัมพูชาเองก็จะเสียเปรียบในคณะกรรมการบริหารร่วม 7 ชาตินี้ เริ่มจากเข้าใจประวัติศาสตร์ร่วมกัน มีความร่วมมือที่เข้าใจซึ่งกันและกันทั้งในระดับรัฐและประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในท้ายสุด

9.การที่เราจะแสดงบทบาทดังกล่าวได้ เราต้องแสดงถึงความเป็นรัฐอธิปไตยที่เข้มแข็งและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ ไม่ใช่ในลักษณะจำยอมในทางเลือกที่จำกัดซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเสียอธิปไตยและสิทธิในการบริหารจัดการดังกล่าวไปในที่สุด
-------------
ที่มา
สรุปทีวีไทย วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2551 เวลา 14.00 – 15.30 น.
ผู้เข้าร่วมรายการมี 3 ท่านคือ อาจารย์นิธิ อาจารย์ศรีศักดิ์ และ คุณภารณี สวัสดิรักษ์ (จาก ICOMOST)

ไม่มีความคิดเห็น: