วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

ขยายความในร่างข้อมติ (Draft Decision)

ร่างมติข้อสำคัญๆ กับข้อที่มีนัยเกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนร่วมของไทย มีดังนี้
• ร่างมติข้อ 8 รับรองแล้วเรื่องการขึ้นทะเบียนร่วม
การที่ฝ่ายไทยแสดงความปรารถนาขอขึ้นทะเบียนร่วม ซ้ำแล้วซ้ำอีกนั้น มีการรับรองแล้วในร่างของมติการประชุมที่ควิเบค แคนาดา (ร่างมติข้อ 8) จะเห็นว่า มีการค้นคว้าทางโบราณคดี ทั้งที่ดำเนินการเสร็จแล้ว และที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งจะส่งให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาในลักษณะการขึ้นทะเบียนข้ามพรมแดน (ร่างมติข้อ 10) ด้วยเหตุผลว่า ประชาชนในพื้นที่โดยรอบได้ให้คุณค่าปราสาทพระวิหารมาช้านาน และเป็นการเสนอองค์ประกอบ เพื่อสะท้อนให้เห็นความสมบูรณ์และภูมิทัศน์ของมรดกโลก ดังนั้น การขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพิ่มเติมโดยฝ่ายไทยซึ่งเป็นผู้ให้ความร่วมมือกัมพูชาอยู่ จะเข้าเกณฑ์ข้อที่ 3 และ 4 ซึ่งได้รับการรับรองแล้ว โดยมีคำตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลกที่แคนาดา (ร่างมติข้อ 11) การให้คำรับรองจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 ที่เมืองควิเบคนี้ จึงเรียกร้องเพิ่มเติมให้รัฐบาลผู้ให้ความร่วมมือ และหุ้นส่วนระหว่างประเทศอีกไม่เกิน 7 ประเทศ เข้าตรวจสอบและดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานการอนุรักษ์สากล (ร่างมติข้อ 14)
• นอกจากนี้ ในร่างมติข้อ ๑๔ ของคณะกรรมการมรดกโลกยังระบุว่า
ให้รัฐภาคีกัมพูชา โดยความร่วมมือกับยูเนสโก ให้จัดการประชุมคณะกรรมการชาติที่เป็นผู้คอยดูแลความปลอดภัย และการพัฒนาทรัพย์สินไม่ช้ากว่าเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ โดยเชิญให้รัฐบาลไทยเข้าร่วม รวมทั้งชาติหุ้นส่วนระหว่างประเทศที่เหมาะสมไม่เกิน ๗ ชาติ เพื่อตรวจสอบนโยบายทั่วไปเกี่ยวกับการคุ้มครองความปลอดภัยของทรัพย์สินที่มีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการอนุรักษ์ของสากลด้วย
(“ Requests the State Party of Cambodia, in collaboration with UNESCO, to convene an international coordinating committee for the safeguarding and development of the property no later than February 2009, inviting the participation of the government of Thailand and not more than seven other appropriate international partners, to examine general policy matters relating to the safeguarding of the outstanding universal of the property in conformity with international conservation standards.”)

• ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลกฝ่ายไทย ก่อนหน้านายปองพล อดิเรกสาร ได้ตั้งข้อสังเกตกลไกนี้ด้วยว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีมรดกโลกแห่งใด ใช้กลไกนี้ เพราะจะทำให้ชาติอื่น ๆ ที่ร่วมเข้ามาอีก ๖ ชาติ เข้าแทรกแซงปกป้องกัมพูชา และกดดันไทยในการใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่ต้องตกเป็นพื้นที่กันชน โดยที่กัมพูชาเป็นผู้กำหนดมาตรการทางกฎหมายและทางบริหารจัดการไว้ในแผนบริหารจัดการพื้นที่ของทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งนี้
นอกจากนี้ การที่ที่ประชุมไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ แต่พอถึงเวลานี้กลับมีมติ แสดงว่า ฝ่ายไทยไม่มีการท้วงติง ทั้ง ๆ ที่กระทบถึงสิทธิประโยชน์ของประเทศอย่างชัดเจน ด้วยเรื่องพื้นที่กันชน และแผนบริหารจัดการพื้นที่นี้ยังไม่คิดวิตกกังวลว่า จะมีวาระซ่อนเร้นอยู่อีก เพราะที่เห็นในเวลานี้ ก็ยังเป็นเพียงร่างของมติหรือ Draft Decision ซึ่งยังไม่ใช่มติตัวจริงที่จะให้เห็นว่าเป็นอย่างไรได้อีก
• ให้กัมพูชาส่งแผนที่แสดงรายละเอียดเพิ่มเติมของทรัพย์สินที่ขอขึ้นทะเบียน และแผนที่กำหนดขอบเขตของพื้นที่กันชน ที่ระบุใน RGPP (ร่างมติข้อ ๑๕ (a))
• เอกสารคำขอขึ้นทะเบียนล่าสุดที่แสดงถึงความแตกต่างจากเดิมอันสะท้อนให้เห็นความครบถ้วนสมบูรณ์ของทรัพย์สิน (ร่างมติข้อ15) ความหมายของข้อนี้เป็นอย่างไรนั้นโปรดนึกถึงการเสนอขึ้นทะเบียนองค์ประกอบของปราสาทพระวิหารฝั่งไทย ในลักษณะการขึ้นทะเบียนข้ามพรมแดน ที่ ICOMOS ไทย และ นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการมรดกโลกฝ่ายไทย พยายามเสนอ และมีนายพิษณุ สุวรรณชฏ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวหลักในการดำเนินการ)
• สุดท้าย กัมพูชาจะต้องส่งเพิ่มเติมแผนบริหารจัดการที่สมบูรณ์ ใช้คำว่า “Full Management Plan” สำหรับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก รวมทั้งแผนที่ที่ทำเป็นยกสุดท้าย ( a finalized map) ซึ่งตอนแรกได้ส่งแผนที่แสดงขอบเขตของตัวปราสาทที่ขอขึ้นทะเบียนแต่ยังไม่กำหนด”พื้นที่ทับซ้อน” ขั้นต่อมาคือกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ในพื้นที่ทับซ้อน และสุดท้ายส่งแผนที่ใหม่ซึ่งแสดงขอบเขตพื้นที่ต่างๆ พิกัดอ้างอิงทางภูมิศาสตร์ แทนแผนที่เดิมทั้งหมด จึงเป็นข้อสังเกตว่า สอดคล้องกับการวางแผนร่วมกันให้มีการเสนอร่วมเข้าไปอีกกับปราสาทพระวิหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้ว ถือว่าเป็นการประเคนให้กัมพูชาอย่างสมบูรณ์
ความสมบูรณ์จะมีผลเมื่อทำให้เสร็จทันภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2010 และจะมีมติจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 34

แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ทำให้คนไทยช็อคกันมาแล้ว แต่การนำเอาผลของแถลงการณ์ร่วมฉบับนั้นมาประกบกับร่างมติ (Draft Decision) ของ WHC ยิ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อประเทศชาติ คำนวณเฉพาะพื้นที่ได้คร่าวๆ ดังนี้
1. ยกพื้นที่บริเวณพื้นที่รอบปราสาทให้กัมพูชา
2. ยกพื้นที่บริเวณเขาพระวิหาร ให้อยู่ในเขตแดนของกัมพูชาภายใต้เหตุผล เพื่อความสมบูรณ์และความงดงามทางวัฒนธรรม-อารยธรรม (ตามร่างมติข้อ 8,14,15 และ 16)
3. ยกพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารให้กัมพูชาด้วยเหตุผลด้านภูมิทัศน์ จะมากหรือน้อยอยู่ที่แผนพัฒนาร่วม อันอาจจะครอบคลุมบางส่วนในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี(บ้านน้ำยืน)
4. พื้นที่ของไทย 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่รัฐบาลไทยไม่ยอมยืนยันในอาณาเขตของตนตามแผนที่เส้นเขตแดนของตน แต่กลับไปรับรองยืนยันในแผนที่ของกัมพูชา แม้จะรู้และอ้างอยู่เสมอว่าถือแผนที่กันคนละฉบับ และเรียกพื้นที่นี้ว่า “พื้นที่ทับซ้อน” มีรัฐบาลเท่านั้นที่ได้แสดงเจตนายินยอมให้พื้นที่อยู่ในการบริหารจัดการของ ICC ภายใต้แผนแม่บทมรดกโลกของกัมพูชา
ทั้งหมดนี้ ยังไม่ได้คิดรวมถึงอธิปไตยของชาติ อธิปไตยของพลเมือง ความเป็นธรรม และประโยชน์หลากหลายมิติ รวมถึงมิติทางวัฒนธรรม สัญชาติ และชาติพันธุ์ ที่ต้องถูกผลกระทบโดยตรง
ชีวิต หรือตำแหน่งของบุคคลที่ไม่ปรารถนาดี ไม่มีค่าพอจะทดแทนความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ได้
---------------
ที่มา ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นายประกาสิทธิ์ แก้วมงคล
สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑

ไม่มีความคิดเห็น: