วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2551

การโต้แย้งการอ้างสิทธิ์เขตแดนของกัมพูชาตามแผนที่ ๑/๒๐๐,๐๐๐

การปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ได้กระทำเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว
ตามสนธิสัญญาสยาม – ฝรั่งเศส ค.ศ.๑๙๐๔ (ร.ศ.๑๒๒ หรือ พ.ศ.๒๔๔๗) ซึ่งถือเป็นสัญญาใหญ่ แม้ว่าต่อมาภายหลังจะมีการทำสนธิสัญญาปักปันเขตแดนระหว่างสยาม – ฝรั่งเศส บริเวณกัมพูชาอีกครั้งใน ค.ศ.๑๙๐๗ (ร.ศ.๑๒๕ หรือ พ.ศ.๒๔๕๐) โดยเริ่มจากช่องเสม็ดไปสิ้นสุดที่ช่องเกล (ห่างจากเขา
พระวิหารมาทางทิศตะวันตกประมาณ ๙๐ กิโลเมตร) ดังนั้นเขตแดนอันเป็นผลจากสนธิสัญญาปักปัน
เขตแดนทั้ง ๒ ฉบับ จึงมาบรรจบกันที่ช่องเกล และไม่ได้มีผลยกเลิกแนวเขตแดนบริเวณเขาพระวิหาร (สนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔) ซึ่งยังคงยึดถือตามสันปันน้ำ จึงสรุปได้ว่าการปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาได้เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์แล้วอย่างไม่มีข้อสงสัย นับจนถึงปัจจุบัน (ค.ศ.๒๐๐๘ หรือ
พ.ศ.๒๕๕๑) เป็นเวลาถึง ๑๐๔ ปี ประเทศกัมพูชาเป็นอดีตประเทศในอารักขาของฝรั่งเศส (อาณานิคมอินโดจีน) เมื่อได้รับเอกราชแล้วย่อมมีผลผูกพันต่อสนธิสัญญา สยาม – ฝรั่งเศส ค.ศ.๑๙๐๔ และสนธิสัญญาสยาม – ฝรั่งเศส ค.ศ.๑๙๐๗ ดังกล่าวด้วย โดยจะปฏิเสธการยอมรับผลของการปักปันเขตแดนที่เกิดขึ้นและเสร็จสิ้นไปแล้วไม่ได้ ปัจจุบันจึงไม่มีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา เพราะได้มีการปักปันกันเอาไว้ชัดเจนแล้วตามสนธิสัญญา
แม้ว่ากัมพูชาจะอ้างแผนที่คนละฉบับกับไทย แต่แผนที่ที่ใช้อ้างนั้นไม่ถูกต้องตรงตามสนธิสัญญา จึงไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงเหนือสนธิสัญญาได้ อีกทั้งแผนที่ของกัมพูชา มาตราส่วน
๑/๒๐๐,๐๐๐ เป็นแผนที่ซึ่งฝรั่งเศสจัดทำขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการผสมสยาม – ฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ เนื่องจากคณะกรมการผสมชุดดังกล่าว ได้ยุบเลิกในเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๐๗ ก่อนจะมีการจัดทำแผนที่แผ่นนี้ ถึง ๑ ปี ซึ่งแผนที่ ๑/๒๐๐,๐๐๐ ถูกพิมพ์ขึ้นที่
กรุงปารีส ในระหว่างฤดูร้อน ปี ค.ศ.๑๙๐๘ ดังนั้นคณะกรรมการผสมที่ตั้งขึ้นตามสนธิสัญญา
ค.ศ.๑๙๐๔ จึงไม่มีโอกาสเห็นแผนที่ฉบับดังกล่าวได้เลย จึงเป็นไปไม่ได้ว่าเป็นแผนที่ของคณะกรรมการปักปันสยาม – ฝรั่งเศส ค.ศ.๑๙๐๔
แผนที่ ๑/๒๐๐,๐๐๐ ฉบับนี้ กัมพูชาเคยใช้เป็นเอกสารแนบท้ายคำฟ้องในคดีปราสาทพระวิหาร ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๐๒ – ๒๕๐๕ แต่ศาลโลกมิได้ชี้ขาดว่าแผนที่ ๑/๒๐๐,๐๐๐ ไม่ถูกต้องในบริเวณปราสาทพระวิหาร และเส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่ดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน และเส้นสันปันน้ำตามสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ ซึ่งอยู่ที่ขอบหน้าผาในบริเวณปราสาท คือ เส้นเขตแดน แสดงว่าปราสาททั้งหมดอยู่ในเขตไทย จึงสรุปได้ว่าแผนที่ ๑/๒๐๐,๐๐๐ ของกัมพูชา ไม่ใช่แผนที่ของคณะกรรมการปักปันร่วมสยาม – ฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ และเป็นเส้น
เขตแดนที่ขัดแย้งกับสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ และเป็นเส้นเขตแดนที่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลากไว้โดยปราศจากอำนาจ จึงเป็นแผนที่ซึ่งเชื่อถือไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น: