วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ปฏิบัติเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน(1)อนุสัญญาออตตาวายุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ (สกู๊ปแนวหน้า)

"ทุ่นระเบิด"ปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับ"ความปลอดภัยของคนในชาติ" ส่วนใหญ่จะมี"ผลกระทบกับผู้ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน" เมื่อปี 2543-2544 องค์กรพันธมิตรช่วยเหลือชาวนอรเวย์ ( Norwegian People's Aid, NPA ) ทำการสำรวจทุ่นระเบิดในประเทศไทยตามแนวชายแดนพบพื้นที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด( mines ) และสรรพาวุธที่ยังไม่ระเบิด(UXO) ประมาณ 2,557 ตร.กม. หรือ ประมาณ 1.5 ล้านไร่ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจำนวน 500,000 คน ใน 531 หมู่บ้าน หรือ 48 อำเภอ 27 จังหวัด เนื่องจากมีการสู้รบกันเมื่อ 30 ปีก่อน ทุ่นระเบิดได้ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ไปแล้ว เสียชีวิต 364 คนและพิการ 3,469 คน

ตามข้อตกลงของประชาคมโลกกว่า 140 ประเทศ ร่วมลงนามอนุสัญญาออตตาวา ณ ประเทศแคนาดา ในปี ค.ศ. 1997 ได้ยืนยันว่า สำหรับทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (anti-personel) ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงต่อพลเรือน จะไม่มีการเก็บกู้ ทั้งเก็บกู้เพื่อนำมาใช้ใหม่ และเก็บกู้มาเก็บไว้ในคลัง แต่ให้ใช้วิธีทำลายทิ้งในพื้นที่เลย

สำหรับประเทศไทย ในช่วงเสร็จสิ้นสงครามในประเทศกัมพูชา ระหว่าง ปี พ.ศ. 2525-2527 ราษฎรเริ่มกลับเข้าทำกินในที่ดินเดิม หลายพื้นที่มีทุ่นระเบิด จะมีการเก็บกู้ด้วยตัวราษฎรเอง เนื่องจากกำลังของทหารที่จะเข้าเคลียร์พื้นที่มีไม่เพียงพอ ส่วนมากผู้ที่เข้าเก็บกู้ มักจะเคยเป็นทหารอาสา ที่ได้รับการฝึกอบรมเรื่องทุ่นระเบิดมาก่อน ราษฎรในหมู่บ้านชายแดน แม้แต่เด็กหนุ่มที่มีความคึกคะนอง ก็สามารถเก็บกู้ทุ่นระเบิดเหล่านั้นได้ และแน่นอนที่สุดทุกรายต้องลงท้ายด้วยอุบัติเหตุ หลายคนแขนขาด บางคนพิการ และที่เสียชีวิตไป

ประเทศไทยร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต โอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (The 1997 treaty banning the use, stockpiling, production and transfer of anti-personel landmines) หรือที่เรียกว่า อนุสัญญาออตตาวา ร่วมกับอีก 140 ประเทศ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2540 และได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1พฤษภาคม 2542

การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ปฏิบัติการด้านทุ่นระเบิดทั้งการกวาดล้างทุ่นระเบิดกรอบการปฏิบัติการทุ่นระเบิด จึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่วยในการพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ และสังคมรวมถึงการจัดสรรงบประมาณ สำหรับการปฏิบัติการกวาดล้างทุ่นระเบิดอย่างเหมาะสมผู้สนับสนุนจากภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กร และหน่วยงานเพื่อจะทำให้แผนงานประสบความสำเร็จต่อไป

มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน จึงเปิดโครงการสำรวจเพื่อปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดแบบบูรณาการ ด้านชายแดนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ตั้งเป้าปรับลดพื้นที่อันตรายด้านที่ติดกับชายแดนกัมพูชาจากประมาณ 2,000 ตร.กม.ให้เหลือเพียงประมาณ 400 ตร.กม.พร้อมทั้งเดินหน้าโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตามแนวชายแดน คาดจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเก็บกู้ระเบิดทั่วประเทศแล้วเสร็จภายในปี 2556 ตามข้อผูกมัดในอนุสัญญาออตตาวา...!!!

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซีย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเหลือเวลาเพียง 5 ปี ที่จะต้องปฏิบัติตามพันธะกิจของอนุสัญญาออตตาวา ที่ระบุให้ประเทศไทยต้องเก็บกู้ทุ่นระเบิดทั่วประเทศให้เสร็จในปี 2556 แต่ภารกิจดังกล่าวเป็นงานที่ยากยิ่ง เนื่องจากพื้นที่สงสัยเป็นทุ่นระเบิดในประเทศไทยมีมากถึง 2,500 ตร.กม. การสำรวจ การเคลียร์พื้นที่ รวมถึงการเก็บกู้ล้วนแต่เป็นงานอันตราย และเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล การที่มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน เข้ามาช่วยเหลือด้านการสำรวจพื้นที่ เพื่อกำหมดขอบเขตสนามทุ่นระเบิดให้ตรงตามความเป็นจริง และมีพื้นที่ลดลงช่วยให้ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ทำงานเก็บกู้ได้ง่ายและเสร็จเร็วขึ้น หากประเทศไทยสามารถปฏิบัติภารกิจให้เสร็จตามเวลา ซึ่งจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีโลกทำให้บทบาทของไทยในกลุ่มอาเซียนโดดเด่นขึ้นมาอีกครั้ง

ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน การทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรือเรียกว่าอนุสัญญาออตตาวา กำหมดให้รัฐบาลไทย ต้องเก็บกู้ระเบิดทั้งหมดทั่วประเทศ ภายในปี 2556 รัฐบาลไทยได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมขึ้นมา 4 หน่วย เพื่อเร่งการเก็บกู้ และกวาดล้างทุ่นระเบิดตามพื้นที่แนวชายแดน โดยเฉพาะด้านกัมพูชาที่มีทุ่นระเบิดมากกว่าร้อยละ 76 ของพื้นที่ทุ่นระเบิดทั้งประเทศ

"แต่การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปอย่างล่าช้า โดยเก็บกู้ระเบิดได้เพียง 50 ตร.กม.หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ของพื้นที่สงสัยว่าเป็นทุ่นระเบิดทั่วประเทศที่มีประมาณ 2,500 ตร.กม. เนื่องจากขอบเขตของสนามทุ่นระเบิดที่ใหญ่กว่าความเป็นจริงมาก ทำให้ไทยไม่สามารถเก็บกู้ระเบิดได้ตามกำหมดของอนุสัญญาออตตาวา ดังนั้นในปี 2550 มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อพัฒนาแบบยั่งยืน จึงได้ร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ คิดค้นหาแนวทางเพื่อให้การเก็บกู้ และกวาดล้างทุ่นระเบิด สามารถดำเนินการให้คืบหน้าเร็วขึ้น"ดร.สุรินทร์ กล่าว

พล.ท.ธำรงค์ศักดิ์ ดีคงมล หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2549 ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ได้คิดค้นหาแนวทางเพื่อให้การเก็บกู้ และกวาดล้างทุ่นระเบิดสามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น มีความปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ จนเป็นที่มาของโครงการสำรวจเพื่อปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดแบบบูรณาการ จะกำหมดขอบเขตสนามทุ่นระเบิดใหม่ในพื้นที่สงสัยประมาณ 2,000 ตร.กม.ตามชายแดนไทย-กัมพูชา จ.ตราด จ.จันทบุรี จ.สระแก้ว จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ จ.ศรีสะเกษ และจ.อุบลราชธานี ระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน50-ตุลาคม 52 โดยมอบหมายหน้าที่ให้แก่มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงฯ คาดว่าจะสามารถกำหมดเป็นพื้นที่ปลอดภัยประมาณ 1,600 ตร.กม.และเป็นสนามทุ่นระเบิดจริงเพียงประมาณ 400 ตร.กม.เท่านั้น

ส่วนนายเตช บุนนาค ประธานที่ปรึกษา มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน กล่าวว่า มูลนิธิแม่น้ำโขงฯ ได้รับความวางใจจากประเทศสมาชิกอาเซียนให้ดำเนินโครงการฯ นี้ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก Japan-ASEAN lntegrated Fund JAIF 1.28 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากเสร็จสินการสำรวจเพื่อปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดแล้ว มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงฯ ยังมุ่งเน้นการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข และการศึกษา โดยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีส่วนทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเอง กระบวนการเหล่านี้จะทำให้แต่ละชุมชนมีการพัฒนาที่ยั่งยืน

มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงฯ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน และมูลนิธิที่จดทะเบียนดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งชาวไทย และประเทศเพื่อนบ้านให้มีการพัฒนา ดำเนินงานพัฒนาภายใต้กรอบการทำงานระยะยาว เพื่อแก้ไขด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มุ่งเน้นที่จะช่วยเหลือประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนตะเข็บชายแดนที่ได้มีการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเรียบร้อยแล้ว และชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ห่างไกลที่ด้อยโอกาส ส่งเสริมสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน การให้ทุนการศึกษาแก่เด็กยากจน

การเก็บกู้ทุ่นระเบิดเป็นภารกิจที่เสี่ยง ผู้ปฏิบัติต้องทำงานอย่างระมัดระวัง หากประมาทเพียงครั้งเดียว และเกิดการผิดพลาด ผู้ปฏิบัติจะไม่สามารถแก้ตัวเป็นครั้งที่2 นั้นหมายความว่าต้องมีการสูญเสียเกิดขึ้น ฉบับพรุ่งนี้ สกู๊ปแนวหน้า จะพาลงสนามทุ่นระเบิดดูภารกิจเก็บกู้ทุ่นระเบิดของเจ้าหน้าที่ ชีวิตที่ยืนอยู่บนเส้นด้าย...!!!

ไม่มีความคิดเห็น: